⇑ กำลังทางเรือ

ความเป็นมาของโครงการ

การสร้างเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง เป็นโครงการเพื่อเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษาครบ 7 รอบ 84 พรรษา ใน 5 ธันวาคม พ.ศ.2554 และเป็นส่วนหนึ่ง ของการพัฒนากําลังรบ ตามยุทธศาสตร์กองทัพเรือ เพื่อรองรับกับบทบาท และหน้าที่ของกองทัพเรือในด้าน การปฏิบัติการทางทหาร ในการป้องกันประเทศ การรักษากฎหมาย และการช่วยเหลือประชาชน ซึ่งเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง มีขีดความสามารถในการลาดตระเวน ตรวจการณ์รักษาฝั่ง ป้องกันการแทรกซึมทางทะเล คุ้มครองเรือประมง ป้องกันและคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล การช่วยเหลือผู้ประสบภัยในทะเล และการรักษากฎหมายในทะเล ตามอํานาจหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย ทั้งนี้ขอบเขตของโครงการ เป็นการจัดหาเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง จํานวน 1 ลํา ในวงเงินรวม 2,871 ล้านบาท ระยะเวลาการดําเนินการ 4 ปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2551 ถึง 2555 ในการนี้ กองทัพเรืออนุมัติให้กรมอู่ทหารเรือเป็นหน่วยสร้างเรือ และกําหนดให้ใช้พื้นที่ของอู่ราชนาวีมหิดลอดุลยเดช กรมอู่ทหารเรือ เป็นสถานที่สร้างเรือ อันเป็นการดําเนินการตามแนวพระราชดําริ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง และการพึ่งพาตนเอง กับเป็นการพัฒนา ขีดความสามารถของกรมอู่ทหารเรือ ในการสร้างเรือตรวจการณ์ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น หลังจากที่ประสบความสําเร็จ ในการสร้างเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง ชุดเรือ ต.991 และนําไปสู่การพัฒนาและปรับปรุงในการสร้างเรือ ชุดเรือ ต.994 โดย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดําเนิน แทนพระองค์มาทรงประกอบพิธีวางกระดูกงู เรือตรวจการณ์ไกลฝั่งเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา ณ อู่ราชนาวีมหิดลอดุลยเดช กรมอู่ทหารเรือ อําเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี เมื่อวันจันทร์ ที่ 23 สิงหาคม พ.ศ.2553 และต่อมาได้พระราชทาน ชื่อเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งลำนี้ว่า เรือหลวงกระบี่ หมายเลข ประจําเรือ 551 อีกทั้ง ในวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ.2554 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ยังเสด็จแทนพระองค์ ทรงเป็นประธานในพิธีปล่อยเรือลงน้ำ และได้มีพิธีรับมอบเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งเฉลิมพระเกียรติ 85 พรรษา หรือ “เรือหลวงกระบี่” ณ ท่าเรือแหลมเทียน สัตหีบ ชลบุรี เมื่อ 26 สิงหาคม 2556 โดย พล.ร.อ.สุรศักดิ์ หรุ่นเริงรมย์ ผบ.ทร. เป็นประธานในพิธี

การดำเนินการสร้าง

ตามที่กําหนดไว้ในสัญญาการซื้อขายแบบรายละเอียดและพัสดุ รวมทั้งการบริการทางเทคนิคต่าง ๆ การสร้างเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง จะใช้แบบสร้าง ของบริษัท BVT Surface Fleet สหราชอาณาจักร โดยมีโปรแกรม Tribon มาช่วยในการสร้างเรือ เนื่องจากการสร้างเรือเป็นกระบวนการที่ซับซ้อน เริ่มต้นตั้งแต่ขั้นตอน การออกแบบ การปรับปรุงแบบรายละเอียด และการผลิตเอกสารและข้อมูลที่เพียงพอสําหรับการสร้าง เพื่อให้การบริหารจัดการการสร้างเรือ โดยรวมมีความถูกต้อง ใช้เวลาน้อย ลดการทํางานที่ซ้ำซ้อน และมีประสิทธิภาพตรงตามแบบ โปรแกรม Tribon จึงมีบทบาทอย่างมากในการช่วยในการออกแบบและสร้างเรือ โดยในแนวทางการสร้างเรือ ตามที่ระบุไว้ในกลยุทธ์การสร้างเรือ (Build Strategy) กําหนดให้แบ่งตัวเรือออกเป็นทั้งหมด 17 บล็อกใหญ่ และ 31 บล็อกย่อย เพื่อให้สอดคล้องกับสิ่งอํานวยความสะดวก และพื้นที่ ๆ ใช้ในการสร้างเรือของอู่ราชนาวีมหิดลอดุลยเดช กรมอู่ทหารเรือ ทั้งนี้เนื่องจากบล็อกตัวเรือในแต่ละบล็อกมีขนาดใหญ่และมีน้ำหนักค่อนข้างมาก หากไม่แบ่งย่อย ออกเป็นบล็อกเล็ก ๆ (Sub Block) จะทําให้การเคลื่อนย้ายและยกบล็อกต่าง ๆ เป็นไปด้วยความลําบากและเพื่อให้สะดวกรวดเร็วในการสร้างเรือ ซึ่งตามแผนหลักการสร้างเรือ กําหนดให้ใช้พื้นที่บริเวณหัวอู่แห้งและพื้นที่ลานสร้างเรือ เป็นพื้นที่ ๆ ใช้ในการสร้างและประกอบโครงสร้าง รวมทั้งส่วนประกอบของตัวเรือในแต่ละบล็อก(Block Assembly) เมื่อการสร้างประกอบบล็อกตัวเรือแต่ละบล็อกแล้วเสร็จ จะทยอยยกบล็อกตัวเรือต่าง ๆ ลงมาเชื่อมประกอบเข้าด้วยกัน (Block Erection) ตามลําดับ ในอู่แห้งต่อไป ทั้งนี้ในระหว่างการสร้างประกอบบล็อกตัวเรือ และการเชื่อมประกอบบล็อกตัวเรือเข้าด้วยกันแล้ว งานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องก็ได้มีการดําเนินการในลักษณะคู่ขนานกัน เช่น งานส่วนประกอบตัวเรือทั้งภายในและภายนอก (Outfitting) งานของระบบกลจักร ระบบไฟฟ้า ระบบท่อทาง ระบบอิเล็กทรอนิกส์ งานระบบสรรพาวุธ

ภารกิจของหน่วย

มีภารกิจในการปฏิบัติการทางทหารในการป้องกันประเทศ และการรักษากฎหมายและช่วยเหลือประชาชน โดยให้มีขีดความสามารถในการ ลาดตระเวน ตรวจการณ์ รักษาฝั่ง ป้องกันการแทรกซึม คุ้มครองเรือประมง ป้องกันและคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติในอ่าวไทยและทะเลอันดามัน การช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเล ตลอดจนการรักษากฎหมายในทะเลตามอำนาจหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย


คุณลักษณะของเรือ

  • ทั่วไป
    • หมายเลข 551
    • วางกระดูกงู 23 ส.ค. 2553
    • ปล่อยเรือลงน้ำ 2 ธ.ค. 2554
    • ขึ้นระวางประจำการ 1 ส.ค. 2556
    • ผู้สร้าง อู่ราชนาวีมหิดลอดุลยเดช กรมอู่ทหารเรือ
  • คุณลักษณะทั่วไป
    • ความยาวตลอดลำ 90.50 เมตร
    • ความกว้าง 13.50 เมตร
    • กินน้ำลึก 3.80 เมตร
    • ความเร็วสูงสุด 23 นอต
    • ระวางขับน้ำสูงสุด 1,969 ตัน
    • ระยะปฏิบัติการไกลสุด 3,500 ไมล์ ที่ 15 นอต
    • ความคงทนทะเล ได้ถึงสภาวะทะเลระดับ 5
    • ปฏิบัติการต่อเนื่อง ไม่น้อยกว่า 14 วัน
    • กำลังพลประจำเรือ 92 นาย
    • ลาน ฮ. รับน้ำหนักได้ 11 ตัน
    • อากาศยานประจำเรือ Super Lynx 300
  • ระบบตรวจการณ์
    • เรดาร์ 2D Thales Variant
    • เรดาร์ และออปโทรนิกส์ควบคุมการยิง Thales LIROD Mk.2
    • เรดาร์เดินเรือ X Band
    • เรดาร์เดินเรือ S Band
    • กล้องตรวจการณ์ 1 ระบบ
    • ระบบพิสูจน์ฝ่าย Thales TSA 2525 (IFF)
  • ระบบสื่อสาร
    • ระบบรวมการสื่อสาร 1 ระบบ
  • ระบบอาวุธ
    • ปืนหลัก OTO Melara 76/62 มม. จำนวน 1 กระบอก
    • ปืนกล 30 มม. จำนวน 2 กระบอก
    • ปืนกล .50 นิ้ว จำนวน 2 กระบอก
  • ระบบขับเคลื่อนและเครื่องจักรช่วย
    • เครื่องจักรใหญ่ 2 x Diesels
    • ใบจักร แบบ CPP 2 พวง
    • เครื่องไฟฟ้า จำนวน 4 เครื่อง
  • เรือในชุดเดียวกัน
อวดธง ในงานสวนสนามทางเรือ ณ อ่าวซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย

แหล่งอ้างอิง

  • http://www.dockyard.navy.mi.th
  • http://theopv.com