ความเป็นมาของโครงการ
กองทัพเรือได้รับอนุมัติจากกระทรวงกลาโหม ให้ดำเนินโครงการจัดหาเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุดใหม่เมื่อวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2546 เพื่อทดแทนเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุดเรือ ต.11 และรัฐบาลโดยคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้กองทัพเรือดำเนินโครงการสร้างเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งพร้อมกัน 3 ลำ ในวงเงินรวมประมาณ 1,912 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการรวม 3 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 – 2550 เพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาส ทรงเจริญพระชนมายุ 80 พรรษา ในปี พ.ศ. 2550
โครงการจัดสร้างเรือตรวจเรือใกล้ฝั่งเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา เป็นโครงการของกองทัพเรือไทย ที่ต่อยอดมาจากโครงการสร้างเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง ชุด เรือ ต.91 – ต.99 ซึ่งเป็นโครงการในพระราชดำริของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยมีจุดเริ่มต้นจากพระราชกระแสรับสั่งแก่ผู้บังคับหมู่เรือรักษาการณ์วังไกลกังวล และผู้เข้าเฝ้าฯ ณ วังไกลกังวล เกี่ยวกับการใช้เรือของกองทัพเรือ ในวันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2545 ความว่า ” เรือรบขนาดใหญ่มีราคาแพงและมีค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติงานสูง กองทัพเรือจึงควรใช้เรือที่มีขนาดเหมาะสม และสร้างได้เอง ซึ่งเมื่อสร้างเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุดเรือ ต.91 ได้แล้ว ควรขยายแบบเรือให้ใหญ่ขึ้นและสร้างเพิ่มเติม ” กับทั้งได้มีพระราชดำรัสในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม พ.ศ. 2546 เกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงโดยได้ทรงยกตัวอย่างจากการพึ่งพาตนเองในโครงการต่อ เรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุดเรือ ต.91 ในอดีตของกองทัพเรือ ในช่วงเวลานั้น กองทัพเรือได้มีแผนปลดประจำการ เรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุดเรือ ต.11 ที่ได้รับความช่วยเหลือจาก สหรัฐอเมริกา เนื่องจากใช้งานมานานประมาณ 40 ปีแล้ว กองทัพเรือจึงได้นำพระราชดำริฯ มาดำเนินการพัฒนาแบบเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุดใหม่ ให้มีคุณสมบัติครบถ้วน และสอดคล้องกับแนวพระราชดำรัสดังกล่าว
การดำเนินการสร้าง
การดำเนินการต่อเรือใหม่ครั้งนี้มี 3 กองในกรมอู่ทหารเรือรับหน้าที่ในการออกแบบคือ กองออกแบบฝ่ายตัวเรือ คือปรับปรุงเรือและต่อโครงสร้างเรือ กองออกแบบกลจักร และกองออกแบบไฟฟ้า เรือที่ทำการต่อนี้ได้พัฒนาแบบมาจากแบบเรือ ต.99 โดยทำการขยายแบบไปทุกมิติประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ และนำแบบไปทดลองแบบจำลองเรือที่สถาบัน ฮัมบวร์ก ชิพ โมเดล เบซิน ประเทศเยอรมนี ว่าจากความเร็วที่เราต้องการคือ 27 น็อต ต้องใช้เครื่องขนาดกี่แรงม้า จากนั้นทางสถาบันจะนำไปทดลองหาค่าให้ว่าเรือต้องใช้ขนาดเครื่องยนต์เท่าใด เราก็จะนำมาปรับแต่งเรือให้ทนต่อความสูงของคลื่นที่ความสูงประมาณ 0.5-1 เมตร สำหรับ การจัดสร้างเรือ ต.992 ต.993 นั้น กองทัพเรือได้เปิดให้บริษัทอู่เรือเอกชนที่ผ่านมาตรฐานรับรองระบบควบคุมคุณภาพไอเอสโอ 9001:2000 และผ่านการตรวจสอบ และรับรองจากสมาคมต่อเรือและซ่อมเรือประกวดราคาแข่งขัน และได้ผู้ชนะคือบริษัท มาร์ซัน จำกัด รับหน้าที่ต่อเรือต่อไป
ภารกิจของหน่วย
ลาดตระเวนชายฝั่ง ป้องกันการแทรกซึม คุ้มครองเรือประมง ป้องกันและคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติในอ่าวไทย และทะเลอันดามัน ตลอดจนถวายการรักษาความปลอดภัยแด่พระบรมวงศ์ และให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเล
คุณลักษณะของเรือ
- ทั่วไป
- หมายเลข 993
- วางกระดูกงู 22 มี.ค. 2549
- ปล่อยเรือลงน้ำ 6 ก.ย. 2550
- ขึ้นระวางประจำการ 27 พ.ย.2550
- ผู้สร้าง บริษัท มาร์ซัน จำกัด
- คุณลักษณะทั่วไป
- ความยาวตลอดลำ 38.70 เมตร
- ความกว้าง 6.49 เมตร
- กินน้ำลึก 1.80 เมตร
- ความเร็วสูงสุด 29 นอต
- ระวางขับน้ำสูงสุด 185 ตัน
- ระยะปฏิบัติการไกลสุด 1,500 ไมล์
- ความคงทนทะเล ได้ถึงสภาวะทะเลระดับ 3
- ปฏิบัติการต่อเนื่อง ไม่น้อยกว่า 7 วัน
- กำลังพลประจำเรือ 29 นาย
- ระบบตรวจการณ์
- เรดาร์เดินเรือ Sperry Marine BridgeMaster E
- เรดาร์เดินเรือ Furuno
- ระบบออปโทรนิกส์ควบคุมการยิง Thales Mirador
- ระบบอาวุธ
- ระบบเครื่องควบคุมการยิง (Fire Control System) 1 ระบบ – MIRADOR (Thales Nederland BV)
- ปืนใหญ่ กล MSI-DSL/ATK DS30MR Mk 44 ขนาด 30 มม./70 คาลิเบอร์ แท่นเดี่ยว 2 แท่น
- ปืนกล U.S. Ordnance M2HB ขนาด .50 แท่นเดี่ยว 2 แท่น
- ระบบสื่อสาร
- Hagenuk Marinekommunikation
- ระบบขับเคลื่อนและเครื่องจักรช่วย
- เครื่องจักรใหญ่ ตราอักษร MTU รุ่น 16 V 4000 M90 ขนาด 2,720 kW จำนวน 2 เครื่อง
- เครื่องกำเนิดไฟฟ้าดีเซล MTU กำลังไฟฟ้า 140 กิโลวัตต์ 2 เครื่อง
- เกียร์ทด ตราอักษร ZF รุ่น ZF 7550 จำนวน 2 ชุด
- เพลาใบจักรและใบจักร ตราอักษร Wartsila จำนวน 2 ชุด
- เรือในชุดเดียวกัน
- เรือ ต.991
- เรือ ต.992
- เรือ ต.993
แหล่งอ้างอิง
- http://www.thaipr.net/
- http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=skyman
- http://oldwebsite.ohm.go.th/
- https://sites.google.com/site/vichayasan1812