ประเทศไทยมีอาณาเขตทางทะเลติดต่อกับ ประเทศเพื่อนบ้านจำนวน 6 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย อินเดีย และเมียนมา ซึ่งในบางประเทศยังมีความขัดแย้งเกี่ยวกับอาณาเขตทางทะเลกับไทย สาเหตุอันเนื่องมาจาก การประกาศเขตทางทะเลของแต่ละประเทศที่ติดต่อกัน โดยเรามักเรียกว่า “พื้นที่อ้างสิทธิ์ทับซ้อนทางทะเล” ปัจจุบันมีพื้นที่ที่เจรจาแล้วสามารถตกลงกันได้และยังตกลงกันไม่ได้ในสองฝั่งทะเลของไทย
ฝั่งอ่าวไทย
- ไทย – กัมพูชา พื้นที่อ้างสิทธิ์ทับซ้อน เกิดจากการประกาศเขตไหล่ทวีปของสองประเทศ กัมพูชาประกาศในปี พ.ศ. 2515 และ ไทยประกาศในปี พ.ศ. 2516 จนทำให้เกิดพื้นที่ทับซ้อนกันประมาณ 26,400 ตารางกิโลเมตร และในปัจจุบันยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงในการเจรจาได้
- ไทย – เวียดนาม พื้นที่อ้างสิทธิ์ทับซ้อน เกิดจากการประกาศเขตไหล่ทวีปของสองประเทศ โดยเวียดนามประกาศในปี พ.ศ. 2514 และไทยในปี พ.ศ. 2516 มีพื้นที่ทับซ้อนประมาณ 13,290 ตารางกิโลเมตร อย่างไรก็ตาม ทั้งสองประเทศสามารถบรรลุข้อตกลงในการเจรจาแบ่งเขตแดนได้เมื่อ พ.ศ. 2540
- ไทย – มาเลเซีย พื้นที่อ้างสิทธิ์ทับซ้อน มีปัญหาในช่วงปี พ.ศ. 2452 ที่มาเลเซียเป็นอาณานิคมของอังกฤษ จนกระทั่งไทยประกาศเขตไหล่ทวีปในปี พ.ศ. 2516 ทำให้เกิดพื้นที่ทับซ้อนกันประมาณ 7,250 ตารางกิโลเมตร โดยทั้งสองประเทศสามารถบรรลุตกลงที่จะใช้ประโยชน์ร่วมกัน และกำหนดเป็นพื้นที่พัฒนาร่วม (Joint Developing Area : JDA) มีบันทึกความเข้าใจกันในปี พ.ศ. 2526
ฝั่งทะเลอันดามัน
- ไทย – อินเดีย – อินโดนีเซีย – มาเลเซีย ได้ทำความตกลงกันเพื่อแบ่งเขตไหล่ทวีปและหลักเขตแดนกันเรียบร้อย จึงไม่มีปัญหาพื้นที่อ้างสิทธิ์ทับซ้อน
- ไทย – เมียนมา การแบ่งเขตทางทะเลนอกชายฝั่งของทั้งสองประเทศไม่มีปัญหา มีแต่บริเวณใกล้ฝั่ง เริ่มตั้งแต่ด้านเหนือของเกาะสุรินทร์ไปจนถึงแม่น้ำกระบุรี เนื่องจากเกิดความไม่ชัดเจนของสนธิสัญญาระหว่าง ไทย – อังกฤษ พ.ศ. 2411 ที่ไม่ได้ระบุพิกัดตำบลที่และชื่อเกาะ ทำให้เกิดปัญหาการอ้างสิทธิ์เหนือ เกาะหลาม เกาะคัน และเกาะขี้นก ซึ่งเมียนมาได้อ้างแผนที่เดินเรืออังกฤษ พ.ศ. 2491 กำหนดอาณาเขตทางทะเลครอบคลุมเกาะทั้งสามนี้ ส่วนฝ่ายไทยอ้างข้อมูลทางด้านประวัติศาสตร์และทางภูมิศาสตร์
แหล่งอ้างอิง
- นาวิกาธิปัตย์สาร (นาวาเอก ภุชงค์ ประดิษฐ์ธีระ)